ความเป็นมาของไวรัสอันตรายข้ามชาติ

โคโรนา : มารู้จักไวรัสที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบระบาดในจีน

  • 17 มกราคม 2020
ผู้ชายชาวจีนImage copyrightGETTY IMAGES

กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 รายที่ 2 ในไทย โดยขณะนี้ได้รับการรักษาตัวอยู่ในห้องแยกโรค ที่สถาบันบำราศนราดูร แล้ว

วันนี้ (17 ม.ค.) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวพบผู้ติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 เพิ่ม 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุ 74 ปี ซึ่งเดินทางมาจากเมืองอูฮั่น ประเทศจีน พื้นที่ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทย

ขณะนี้ผู้ป่วยคนดังกล่าวรับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร โดยการดูแลของแพทย์ อาการทางคลินิกดีขึ้น ซึ่งหากผลตรวจจากห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัส แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้

นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคตามระบบมาตรฐานโดยได้คัดกรองผู้โดยสารที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยาน 4 แห่งที่มีเที่ยวบินตรง

ตั้งแต่วันที่ 3 - 16 ม.ค. 2563 รวม 86 เที่ยวบิน ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับการตรวจคัดกรองทั้งสิ้น 13,624 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์การสอบสวน 21 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ได้รับการรักษาหายดีและกลับบ้านแล้ว 12 ราย มีผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2 รายยังรักษาอยู่ในห้องแยกโรคความดันลบ สถาบันบำราศนราดูร

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้แถลงว่าได้พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยเป็นรายแรก เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ยืนยันว่าเป็นรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีน

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว 59 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในระยะวิกฤต 7 ราย และกำลังสร้างความกังวลให้กับวงการสาธารณสุขทั่วโลก

นี่จะเป็นไวรัสที่อุบัติขึ้นมาแค่ชั่วคราวหรือเป็นสัญญาณแรกที่ส่อเค้าว่าจะอันตรายมากกว่านี้

รู้จักเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ทางการจีนยืนยันเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากรกว่า 11 ล้านคน ภายหลังมีการเก็บตัวอย่างไวรัสจากคนไข้นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ในเวลาต่อมาจีนและองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุชื่อเรียกของไวรัสชนิดนี้ว่าคือ "ไวรัสโคโรนา"

ไวรัสโคโรนา มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ที่เคยเกิดการระบาดในมนุษย์ สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ที่ 7

ตลาดปลาImage copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเจ้าหน้าที่หน่วยงานควบคุมโรค เข้าทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ภายหลังถูกสั่งปิด

คนไทยรู้จักไวรัสในตระกูลนี้มาแล้วจากโรค "ซาร์ส" หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS; Severe Acute Respiratory Syndrome) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน พบการระบาดครั้งแรกปลายปี 2545 โดยเริ่มจากพื้นที่มณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน ก่อนกระจายไปยังหลายประเทศ มีผู้เสียชีวิตจากโรคซาร์ส 774 คน จากจำนวนผู้ป่วย 8,098 คน

"ผู้คนยังจำได้ดีถึงความรุนแรงของซาร์ส นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความกลัวแต่เรามีความเตรียมพร้อมมากกว่าเดิมที่จะรับมือกับเชื้อไวรัสเหล่านี้" ดร. โจ โกลดิ้ง จากกองทุน เวลคัม ทรัสต์ ในอังกฤษ ระบุ

รุนแรงแค่ไหน

ไวรัสโคโรนาเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการตั้งแต่เป็นหวัดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงการป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต

"เมื่อเราพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เราต้องการรู้ว่าอาการของโรครุนแรงแค่ไหน มันเป็นมากกว่าแค่ 'อาการคล้ายไข้หวัด' ซึ่งนั่นเป็นความน่ากังวล แต่อย่างไรก็ตาม ไวรัสชนิดนี้ไม่รุนแรงเท่ากับไวรัสซาร์ส" ศ.มาร์ก วูลเฮาส์ จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ กล่าว

ไวรัสมาจากไหน

ไวรัสชนิดใหม่ ๆ ถูกค้นพบได้ตลอดเวลา โดยมักจะมาจากจากสปีชีส์ตัวใดตัวหนึ่งที่เข้าสู่ตัวมนุษย์

"หากเทียบกับโรคระบาดหลายโรคในอดีต เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ย่อมต้องมาจากแหล่งที่มาจากสัตว์" ศ.โจนาธาน บอล นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ระบุ

ยกตัวอย่างเช่น โรคซาร์ส เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากชะมด ส่วนโรคเมอร์ส ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 858 คน จากผู้ติดเชื้อ 2,494 คน ในการระบาดเมื่อปี 2555 เป็นไวรัสที่มาจากอูฐแพร่เข้าสู่มนุษย์

ไวรัสโคโรนาImage copyrightGETTY IMAGES

มาจากสัตว์ชนิดไหน

การควบคุมการระบาดของไวรัสจะง่ายขึ้นเมื่อรู้ว่าแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสมาจากไหน สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลขนาดใหญ่ในเมืองอู่ฮั่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอย่างวาฬเบลูก้า สามารถเป็นพาหะของไวรัสโคโรนาได้ แต่ตลาดอาหารทะเลแห่งนี้ยังมีการซื้อขายสัตว์ป่า เช่น ไก่ ค้างคาว กระต่าย งู ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะเป็นแหล่งของไวรัสมากกว่า

ทำไมเกิดที่จีน

ศ.วูลเฮาส์ กล่าวว่า เพราะจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่น และมีกิจกรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแหล่งไวรัสที่มาจากสัตว์

"ไม่มีใครประหลาดใจว่าทำไมเป็นประเทศจีน หรือประเทศแถบนั้น"

แพร่ระบาดง่ายไหม

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การยืนยันให้ได้ว่าไวรัสชนิดใหม่จะไม่มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน นี่เป็นความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับไวรัสที่เป็นอันตรายต่อปอดชนิดนี้ เพราะการไอและจามเป็นวิธีที่เชื้อไวรัสจะแพร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หากมีการติดต่อจากคนสู่คน นั่นหมายความว่าบุคคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส

จนถึงขณะนี้ ทางการจีนยืนยันว่า ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า อาจเร็วเกินไปที่จะรู้ว่าไวรัสชนิดใหม่มีการติดเชื้อจากคนสู่คนหรือไม่ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม กล่าวว่า "นั่นหมายถึงผู้ป่วย 59 ราย ได้รับเชื้อจากสัตว์ในเวลาที่สั้นมาก ซึ่งตามความรู้สึกนี่ไม่ใช่อัตราที่สูงเท่าใดนัก ตรงนี้จึงยังเป็นคำถามอยู่"

ส่วน ศ.วูลเฮาส์ บอกว่า เขาตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน และกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกเรื่องนี้ เพราะไวรัสโคโรนาส่วนมากแพร่เชื้อได้

สุวรรณภูมิImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพด่านคัดกรองโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ

แพร่ระบาดเร็วแค่ไหน

จนถึงขนาดนี้ ต้องตอบว่า "ไม่เร็วมาก" ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 59 คน เริ่มแสดงอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 29 ธ.ค. ปีที่แล้ว และยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่

ดร. โกลดิ้ง ระบุว่า "เป็นสัญญาณบวก" ที่ไม่เห็นการแพร่ระบาดของผู้ป่วยในจำนวนที่มากกว่านี้ และมองว่าจีนควบคุมการระบาดได้ดี แต่ต้องติดตามดูต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าเชื้อไวรัสอาจแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากประชาชนหลายสิบล้านคนที่เดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงปลายเดือนนี้

จีนจัดการอย่างไร

เมื่อพบผู้ติดเชื้อไวรัส โรงพยาบาลได้มีการแยกผู้ป่วยโรคนี้ออกจากผู้ป่วยทั่วไป และการติดตามบุคคลติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีกกว่า 150 คน เพื่อสอบสวนโรค นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งจุดสแกนอุณหภูมิร่างกายในหลายสถานที่ ส่วนตลาดขายส่งปลาที่เป็นแหล่งที่มาของไวรัสถูกปิดเพื่อกาทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค

ตรวจด่านImage copyrightGETTY IMAGES

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวลแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรหลายคน ตอบคำถามนี้แตกต่างกันไป ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง บอกว่าตอนนี้ยังยากที่จะรู้ว่าเราควรกังวลแค่ไหนจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมออกมา โดยเฉพาะการยืนยันแหล่งที่มาของไวรัส อีกรายระบุว่า ควรกังวลกับไวรัสใดก็ตามที่เข้าสู่ตัวมนุษย์เป็นครั้งแรก เพราะไวรัสชนิดนั้นได้เอาชนะด่านแรกเข้ามาได้แล้ว

ด้าน ศ.โจนาธาน บอล นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม กล่าวว่า "เมื่อไวรัสเข้ามาอยู่ในตัวมนุษย์และสามารถผลิตตัวเองได้ใหม่ มันสามารถกลายพันธุ์ได้และอาจทำให้แพร่กระจายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจะยิ่งอันตรายมากขึ้น....คุณไม่ต้องการให้ไวรัสได้มีโอกาสนั้นแน่"

ไทยคุมเข้มสนามบิน4 แห่ง ที่มีเที่ยวบินจากอู่ฮั่น

กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินในเส้นทางที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่นสู่ท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 4 แห่ง ซึ่งมีเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่นมายังไทย เฝ้าระวังในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสายการบินไชน่า เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อวัน

- ท่าอากาศยานดอนเมือง มีสายการบินไทยแอร์เอเชีย ทำการบิน 2 เที่ยวบินต่อวัน

- ท่าอากาศยานภูเก็ต มีสายการบินไทยแอร์เอเชีย ทำการบิน 2 เที่ยวบินต่อวัน และสายการบิน China Southern Airlines ทำการบินเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน (10 ม.ค.-3 ก.พ. 2563)

- ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีสายการบินแอร์ไชน่า ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันอังคาร วันศุกร์ และวันอาทิตย์)

ส่วนมาตรการจากการท่าอากาศยานไทย ได้ขอความร่วมมือให้เที่ยวบินลงจอดตามจุดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ บริเวณด่านควบคุมโรคฯ ได้ตั้งเทอร์โมสแกนตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคัดกรองตามขั้นตอนสาธารณสุข ก่อนผู้โดยสารจะแสดงตนที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง

กรณีพบผู้ต้องสงสัยป่วยบนเครื่อง สายการบินจะสรุปเหตุการณ์และส่งให้ฝ่ายการแพทย์ตรวจสอบ ยืนยันทางข้อมูลก่อนที่เครื่องบินจะลงจอด โดยจะขอให้จำกัดบริเวณผู้โดยสารเที่ยวบินนั้นไว้ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจากฝ่ายการแพทย์และด่านควบคุมโรค

หมายเหตุ รายงานนี้ได้รับการปรับปรุงจากฉบับที่ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563

Visitors: 994,925