การตรวจความปลอดภัย ( SAFETY INSPECTION )

ารตรวจความปลอดภัย ( SAFETY INSPECTION ) หมายถึง การค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุอันตรายและการประเมินความจำเป็น เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันก่อนที่อุบัติเหตุและการบาดเจ็บจะเกิดขึ้น
วัตถุประสงค์ของการตรวจความปลอดภัย คือ
            1. ช่วยค้นหาอันตรายและปัญหาต่างๆทั่วไป การค้นหาอันตรายและปัญหาต่างๆ โดยใช้การตรวจความปลอดภัยนั้นสามารถกระทำได้กว้างมาก โดย เฉพาะอันตรายหรือปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในสถานประกอบการที่จะส่งผลกระทบหรือเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
            2. ช่วยค้นหาอันตรายที่เกิดจากการกระทำของบุคลากรภายในสถานประกอบการในการเกิดอุบัติเหตุในสถานประกอบการต่างๆ จากการวิเคราะห์และสถิติในอดีตที่ผ่านมา พบว่าต้นเหตุหรือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 80 มาจากการกระทำของบุคคล ฉะนั้น การตรวจความปลอดภัยจะช่วยให้สถานประกอบการค้นหาพฤติกรรม
และการกระทำที่จะก่อให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุจากพนักงานในสถาน ประกอบการด้วย
           3. ช่วยค้นหาอันตรายที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรที่ชำรุดต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายในสถานประกอบการนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่มีอยู่ในสถานที่ทำงานชำรุด ไม่พร้อมที่จะใช้งาน สภาพแบบนี้จะหมดไป เมื่อใช้การตรวจความปลอดภัยในการค้นหาสภาพต่างๆ ดังกล่าวในสถานประกอบการ
          4. ช่วยค้นหาอันตรายหรืออุบัติเหตุจากวัสดุในการผลิตภายในสถานประกอบการจะมีวัสดุหรือวัตถุดิบที่จะต้องใช้ซึ่ง ขึ้นอยู่กับแต่ละกระบวนการผลิตของสถานประกอบการนั้น โดยวัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ บางชนิดมีอันตราย หากเก็บรักษาหรือควบคุมสถานที่จัดเก็บไม่ดี ไม่ถูกต้อง อันตรายจะเกิดขึ้นได้ การควบคุมอันตรายดังกล่าว สามารถใช้การตรวจความปลอดภัยช่วยค้นหาได้
          5. ช่วยค้นหาอันตรายหรืออุบัติเหตุที่มาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐานสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมหรือต่ำกว่ามาตรฐานจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุ ฉะนั้นการค้นหาสภาพดังกล่าวโดยใช้การตรวจความปลอดภัยจะช่วยให้สถานประกอบการหาทาง
ป้องกันแก้ไขได้ล่วงหน้าซึ่งจะช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น
           6. ช่วยค้นหาต้นเหตุของอันตรายหรืออุบัติเหตุที่มาจากการขาดระบบบริหารจัดการการตรวจความปลอดภัยนั้นในบางกรณี หากมีการนำผลการตรวจมาวิเคราะห์อย่างละเอียด จะช่วยให้สถานประกอบการนั้นๆ ทราบถึงสาเหตุหลักๆที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายได้ โดยเฉพาะการขาดระบบการควบคุมหรือการบริหารจัดการ เช่น การควบคุมทางด้านสุขอนามัย ฯลฯ
          7. ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการผู้บริหารสามารถนำข้อมูลจากผลการตรวจความปลอดภัยมาวัดผลการดำเนินการในด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการ ว่ามาตรการหรือระบบที่มีอยู่ มีความเพียงพอเหมาะสมและมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยการวัดผลนั้นสามารถดูได้จากหลายๆ สิ่งด้วยกัน เช่น
                • ผลการตรวจการปฏิบัติงานของหน่วยงาน
                • ผลการตรวจดูอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ
                • ผลการตรวจวัสดุ วัตถุดิบ
                • ผลการตรวจสภาพพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป
การตรวจความปลอดภัยเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสถานประกอบการในการค้นหาสภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือต้นเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และหากสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องและควบคุมให้มีประสิทธิภาพแล้ว สถานประกอบการต่างๆ จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


ความสำคัญของการตรวจความปลอดภัย มีหลายประการ คือ
             1. แสดงออกถึงความห่วงใยต่อพนักงานจากฝ่ายบริหารเป็นการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
             2. ช่วยลดความเสี่ยงภัยและความสูญเสียในการทำงาน ช่วยให้สถานที่ทำงานสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ปฏิบัติงานได้สะดวกรวดเร็วไม่มีสิ่งกีดขวาง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
             3. ทำให้ใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะได้ทราบปัญหาและข้อเสนอแนะของลูกจ้างในการป้องกันแก้ไข และจะเกิดความร่วมมือจากลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะพอใจมากกว่าการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตนเองไม่มีส่วนร่วมด้วย
            4. เพื่อเป็นการสอนงานด้านความปลอดภัย เมื่อพบว่ามีการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้อง โดยการแนะนำสอนงานขณะทำการตรวจ
            5. เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยว่าสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานหรือโครงการที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด
            6. เพื่อหาข้อบกพร่องและกระตุ้นให้คงความปลอดภัยไว้
            7. เพื่อกระตุ้นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องความปลอดภัยที่ได้กำหนดไว้ ให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
            8. เพื่อตรวจความปลอดภัยของเครื่องจักร เครื่องมือใหม่และการติดตั้งให้ปลอดภัยต่อลูกจ้าง และทรัพย์สินของสถานประกอบการ
            9. เพื่อป้องกันภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นต่อหัวหน้างาน พนักงาน และทรัพย์สินของสถานประกอบการ
            10. เพื่อเสนอแนวคิดในการปรับปรุงแก้ไขให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุอันตรายในพื้นที่รับผิดชอบของตน


หลักการตรวจความปลอดภัยมี 3 ประการ คือ
           1. การคาดการณ์หรือความรู้หรือความสามารถในการคาดการณ์ว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุอันตราย
                สาเหตุของอุบัติเหตุอันตรายกับการตรวจความปลอดภัย มี 2 ประการ
                    1. สาเหตุก่อนเกิดอุบัติเหตุอันตราย
                            • เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง
                            • การกระทำที่ไม่ปลอดภัยหรือสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย
                                   - สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ( ด้านฟิสิกส์ ด้านเคมี ด้านชีวภาพ ด้านเออร์กอนอมิคส์ ด้านจิตใจ ด้านสิ่งที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ )
                                  - การกระทำที่ไม่ปลอดภัย ( ประมาทเลินเล่อ ชอบทำงานเสี่ยง ทำงานลัดขั้นตอน ฯลฯ )
                           • ใกล้จะเกิดอุบัติเหตุอันตราย
                   2. สาเหตุหลังการเกิดอุบัติเหตุอันตราย
                           • บาดเจ็บเล็กน้อย
                          • บาดเจ็บร้ายแรง
                           • ตาย
การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
                    1. โอกาสการเกิดอุบัติเหตุอันตราย เป็นการวิเคราะห์สาเหตุที่ตรวจพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุอันตรายมากน้อยเพียงใด ชนิดไหน และมีความถี่มากน้อยระดับใด
                   2. ระยะเวลาที่พนักงานสัมผัสต่อสิ่งที่อาจเกิดอุบัติเหตุอันตราย เป็นการเปรียบเทียบระยะเวลาที่พนักงานสัมผัสต่อสิ่งที่อาจเกิดอุบัติเหตุอันตรายกับชั่วโมงการทำงานโดยปกติของพนักงาน
                  3. ความร้ายแรงหรือผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เป็นการคาดการณ์ว่าถ้าเกิดเห๖ขึ้นจะเกิดผลร้ายแรงเพียงใด เช่น ทรัพย์สินเสียหาย บาดเจ็บ พิการ ตาย
                  4. ความยากง่ายในการตรวจหาสาเหตุ เวลาและค่าใช้จ่าย
                  5. ความผิดพลาดของบุคคล ในการทำให้เกิดอุบัติเหตุ
                 6. การเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ คำนึงถึงทัศนคติหรือการเห็นความสำคัญของฝ่ายบริหาร ที่ต้องการให้ลูกจ้างปลอดภัยมากน้อยเพียงใด
    2. การประเมิน โดยจะนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานความปลอดภัย หรือกฎหมายความปลอดภัยในเรื่องนั้นๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ความร้ายแรงตามหลักการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
  3. การควบคุม หมายถึง ความสามารถในการให้คำแนะนำแก้ไขส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหลักของการควบคุมควรจะควบคุมที่ต้นเหตุของปัญหา หรือทางผ่าน หรือที่ตัวลูกจ้างโดยลำดับ
ระดับและลักษณะของการตรวจความปลอดภัย
    1. การตรวจความปลอดภัยโดยหัวหน้างาน มีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้ที่ควบคุมการปฏิบัติงานของลูกจ้าง
อย่างใกล้ชิด และเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพการทำงานตลอดจนอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในหน่วยงานของตนเป็นอย่างดี
          • กรณีที่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ และมีการแบ่งสายงานมาก หัวหน้างาน ควรกำหนดจุดหรือส่วนงานที่จะทำการตรวจหมุนเวียนในหน่วยงาน
          • กรณีที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หัวหน้างานอาจตรวจได้ทุกแห่ง การตรวจควรกระทำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
เรื่องที่ควรตรวจโดยหัวหน้างาน
          • เครื่องจักรเครื่องมืออยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน
          • เครื่องป้องกันอันตรายเครื่องจักร เครื่องหมายสัญญาณต่างๆ อยู่ในสภาพที่ดี ตำแหน่งที่เหมาะสม
          • สภาพการทำงานโดยทั่วไป และการกระทำของลูกจ้าง
          • ช่องทางเดิน ช่องทางการทำงานมีสิ่งกีดขวางหรือไม่
          • ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการจัดวางสิ่งของ
          • ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยหรือไม่
เ มื่อตรวจพบข้อบกพร่องควรตักเตือน หากไม่เชื่อฟังควรเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
2. การตรวจความปลอดภัยโดยผู้ปฏิบัติงาน ( พนักงาน )
เรื่องที่ควรตรวจโดยผู้ปฏิบัติงาน
        1. ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในที่ทำงาน
        2. ความบกพร่องไม่ปลอดภัยของเครื่องมือ เครื่องจักร และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
        3. ความสูญเสียที่เกิดจากการทำงาน
        4. การกระทำของผู้อื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
ควรมีการจัดทำแบบตรวจความปลอดภัยเป็นประจำวันให้พนักงานใช้ เมื่อพบสภาพที่ไม่ปลอดภัยให้รีบรายงานโดยตรงต่อหัวหน้างาน
3. การตรวจความปลอดภัยโดยทีมงานหรือคณะกรรมการตรวจความปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยวิธีนี้จะมีพนักงานหลายคนหมุนเวียนร่วม
ในการตรวจ เป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัย และควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่ไม่ควรบอกวันเวลาที่ทำการตรวจเพื่อให้ทุกหน่วยงานมีความพร้อมตื่นตัวอยู่เสมอ และผลการตรวจต้องจัดทำเป็นรายงานพร้อมข้อเสนอแนะ สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความขัดแย้งหรือมนุษยสัมพันธ์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหัวหน้าส่วนงานต่างๆ
4. การตรวจโดยนายจ้าง ผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการบริษัทเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและควรเป็นผู้จัดให้มีระบบการตรวจความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ
5. การตรวจความปลอดภัยโดยคณะกรรมการความปลอดภัย เป็นลักษณะการตรวจเยี่ยมเพื่อกระตุ้น พัฒนา และติดตามงานด้านความปลอดภัย
6. การตรวจโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เป็นหน้าที่ประการหนึ่งตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยอาจเป็นผู้ประสานงานให้กับพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการตรวจหรือหาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจในบางเรื่อง เช่น หม้อไอน้ำ ปั้นจั่น
เรื่องที่ควรตรวจโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
        1. ตามประกาศกระทรวงแรงงาน ฉบับต่างๆที่สถานประกอบการเกี่ยวข้อง
        2. ตามพระราชบัญญัติโรงงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
        3. ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
โดยปกติต้องทำการตรวจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
              • กรณีที่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ และมีการแบ่งสายงานมาก ควรกำหนดจุดหรือส่วนงานที่จะทำการตรวจหมุนเวียนในหน่วยงาน
              • กรณีที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก อาจตรวจได้ทุกแห่ง การตรวจควรกระทำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
              • กรณีที่มีการทำงานติดตั้ง รื้อถอน ก่อสร้างงานอันตรายบางประเภท หรืองานที่ผู้รับเหมามาดำเนินการภายในบริเวณสถานประกอบการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะต้องทำการตรวจความปลอดภัยทุกครั้ง
ประเภทและวิธีการที่ใช้ในการตรวจความปลอดภัย
พิจารณาจากขอบเขตและลักษณะงานที่จะตรวจ ความจำเป็นในการดำเนินงานและหน้าที่รับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งได้ เป็น 4 ประเภท ตามความถี่ของการตรวจ หรือช่วงเวลาของการตรวจ คือ
            • การตรวจปกติเป็นประจำ คือ การตรวจที่มีกำหนดการตรวจเป็นประจำ แต่ละครั้งมีระยะห่างกันสั้นๆ เช่น
            • การตรวจความปลอดภัยก่อนทำงาน ของลูกจ้างหรือหัวหน้างานทุกวัน
            • การตรวจโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทุกวัน
            • การตรวจเป็นระยะๆตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน หมายถึง การตรวจที่กำหนดตารางการตรวจหรือระยะเวลาตรวจในแผนการตรวจ เช่น ทุกสัปดาห์ ตรวจทุก 3 เดือน หรือตรวจทุก 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการตรวจที่นานกว่าการตรวจปกติเป็นประจำ เช่น
            • การตรวจความปลอดภัยโรงงาน โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือคณะกรรมการความปลอดภัย
            • การตรวจความปลอดภัย เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เช่น หม้อไอน้ำ เครน ลิฟต์ ไฟฟ้า เครื่องดับเพลิง สารเคมี
            • การตรวจเป็นครั้งคราวที่ไม่กำหนดช่วงเวลาไว้แน่นอน หมายถึง การตรวจความปลอดภัยโดยไม่ได้ประกาศหรือแจ้งให้ทราบ รวมทั้งไม่ได้กำหนดเวลาที่จะตรวจ เพื่อกระตุ้นให้หัวหน้างานและพนักงานสนใจในการค้นหาและแก้ไขสภาพการทำงานก่อนที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะตรวจพบ
            • การตรวจพิเศษ หมายถึง เป็นการตรวจในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น การตรวจการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือใหม่ การตรวจการก่อสร้างอาคาร หรือการรื้อถอนทำลาย การตรวจในช่วงรณรงค์สัปดาห์ป้องกันอัคคีภัย
วิธีการตรวจความปลอดภัย
           1. การสำรวจ หมายถึง การเดินตรวจตราความปลอดภัยโดยการสังเกตหรือโดยการตรวจตามแบบตรวจความปลอดภัยที่กำหนดขึ้น การตรวจแบบนี้มักใช้แบบที่แปรผลได้ทันทีหรือใช้เครื่องมือตรวจชนิดอ่านค่าได้ทันที เช่น เครื่องวัดแสง เครื่องวัดเสียงหรือเครื่องมือวัดสารเคมีบางชนิด ฯลฯ
            2. การสุ่มตัวอย่าง หมายถึง การเลือกสำรวจจุดที่สงสัยว่าเป็นอันตราย เช่นการทดสอบสารเคมี ฯลฯ
            3. การวิเคราะห์วิจัย หมายถึง การตรวจความปลอดภัยที่เจาะลึกลงไปในรายละเอียดถึงสาเหตุของอุบัติเหตุอันตรายมากกว่าการสำรวจหรือสุ่มตัวอย่าง เช่น การวิจัยระดับความดังของเสียงที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฯลฯ
            4. การตรวจเยี่ยม หมายถึง การตรวจเพื่อดูความก้าวหน้าของงาน กระตุ้นความร่วมมือและรับทราบปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ มักเป็นวิธีที่ผู้บริหารหรือคณะกรรมการความปลอดภัยใช้
แนวทางในการตรวจเครื่องจักร ไฟฟ้า สารเคมี สภาพแวดล้อม และการกระทำที่ไม่ปลอดภัย
         1. การตรวจเครื่องจักร ข้อสังเกตในการตรวจหาสาเหตุของอุบัติเหตุอันตรายจาก
              1.1 การสัมผัส เป็นการตรวจว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสกับสิ่งที่อาจเกิดอันตราย เช่น ส่วนหมุนของเครื่องจักร
              1.2 การชนกระแทก เป็นการตรวจว่ามีโอกาส เหวี่ยง ชน หรือกระแทกถูกผู้ปฏิบัติงาน
              1.3 การติดอยู่ระหว่างจุดอันตราย เป็นการตรวจดูว่ามีโอกาสที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เข้าไปติดอยู่ระหว่างจุดอันตรายของเครื่องจักร เช่น จุดหนีบ จุดตัด จุดกระแทก จุดเฉือนฯลฯ เช่นการทำงานกับเครื่องปั้มโลหะ
              1.4 การหลุดกระเด็นของเศษวัสดุและเครื่องจักร เป็นการตรวจอันตรายที่เกิดจาก เศษโลหะ เศษไม้ หรือวัสดุที่กระเด็นออกมาในขณะทำงาน เช่น งานกลึง งานแต่งผิวโลหะ สายพานต่างๆ ฯลฯ
          2. การตรวจไฟฟ้า ข้อสังเกต
              2.1 การตรวจไฟฟ้า
                    2.1.1 การตรวจขนาดของสายไฟ ( พื้นที่หน้าตัด ) ว่าเป็นไปตามมาตรฐานในประกาศกระทรวงแรงงานฯเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า
                    2.1.2 ตรวจดูการเดินสายไฟฟ้ากับมาตรฐานที่กำหนดในกฎหมาย
                    2.1.3 ตรวจความเหมาะสมของสายไฟกับการใช้งาน เช่น อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ให้ใช้สายไฟฟ้าชนิดสายอ่อน
                    2.1.4 ตรวจดูสภาพสายไฟฟ้าว่าชำรุดเก่าหรือใช้งานมานาน
                    2.1.5 ตรวจการใช้สายไฟฟ้าที่วางบนพื้น ว่ามีที่ครอบป้องกันการเหยียบ ทับ หรือวางอยู่บนพื้นเปียก
                    2.1.6 ตรวจการป้องกันกรณีใช้สายเปลือย
                    2.1.7 ตรวจสายไฟฟ้าที่กีดขวางการทำงานของเครื่องจักรหรือการจราจร
           2.2 การตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องมือ เครื่องใช้
                   2.2.1 ตรวจขนาดและความเหมาะสมของฟิวส์ที่ใช้มีการต่อลวดทองแดงแทนฟิวส์หรือไม่
                   2.2.2 แผงหรือตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า มีการต่อสายดินหรือไม่
                   2.2.3 ตรวจการแตกชำรุดของปลั๊กไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ
                   2.2.4 ตรวจดูเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้าว่ามีสายดินหรือมีการต่อสายดินถูกต้องหรือไม่
                   2.2.5 ตรวจดูว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ เช่น สวิตซ์ ฟิวส์ เบรกเกอร์ ได้มาตรฐานหรือไม่
                  2.2.6 การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใกล้ก๊าซหรือสารไวไฟหรือไม่
                  2.2.7 ตรวจการป้องกันสายไฟฟ้าแรงสูงและหม้อแปลงไฟฟ้า
            3. การตรวจสารเคมี เป็นการสังเกตหรือประเมินอันตรายเบื้องต้น กรณีที่ต้องการทราบผลต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดสารเคมีโดยเฉพาะ สิ่งที่ควรสังเกต คือ
                 3.1 พบเห็นฝุ่นหรือควันฟุ้งกระจายในบริเวณที่ทำงาน มีระบบระบายอากาศไม่เหมาะสม
                 3.2 ตาหรือผิวหนังระคายเคือง หรือมีกลิ่นฉุน
                 3.3 สารเคมีหก หล่น และพบการเคลื่อนย้ายที่ไม่ปลอดภัย
                 3.4 มีการร้องเรียนหรือพบว่าลูกจ้างมีอาการเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ทำงานอยู่
                 3.5 ลูกจ้างไม่ใช้หรือไม่มีเครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือมีแต่ไม่เหมาะสม
            4. การตรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทางด้านกายภาพ เช่น แสง เสียง ความร้อน การสั่นสะเทือนฯลฯการตรวจที่จะให้ผลแน่นอนต้องใช้เครื่องมือในการตรวจวัด ข้อสังเกตในการตรวจ คือ
                   4.1 ลูกจ้างที่ทำงานอยู่มีอาการผิดปกติทางร่างกายเกี่ยวเนื่องจากสาเหตุของสภาพแวดล้อม
                   4.2 ลูกจ้างไม่ใช้ หรือไม่มีเครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือมีแต่ไม่เหมาะสม
                   4.3 พบว่าต้นกำเนิดของปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยเกิดจากเครื่องมือ เครื่องจักรที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดการซ่อมบำรุง หรือไม่มีการควบคุมให้ปลอดภัย
                5. การตรวจการกระทำที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีทั้งแสดงออกให้เห็นได้และซ่อนเร้นอยู่ในตัวพร้อมที่จะแสดงออกตามสภาพและโอกาสต่างๆกัน ข้อสังเกตในการตรวจ คือ
                        1. แต่งกายไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัย เช่น เสื้อผ้าหลวม / คับ สกปรก ขาดรุ่งริ่ง ฯลฯ
                        2. มีพฤติกรรมหรือการกระทำโดยทั่วไปไม่ปลอดภัย เช่น ประมาท ใจลอย ฯลฯ
                        3. ขาดความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบความปลอดภัย ฯลฯ
แบบตรวจความปลอดภัยและการประเมินผล
            1. แบบตรวจความปลอดภัยโดยทั่วไป : เป็นแบบตรวจที่ผู้สร้างแบบคาดหมายว่า สภาพการทำงานโดยทั่วไปน่าจะมีเรื่องที่เหมือนๆกัน หรือเป็นเรื่องทั่วไปที่คาดว่าจะมีอยู่ในสถานประกอบการต่างๆ เช่น ความสะอาด การป้องกันอัคคีภัย เครื่องจักร เครื่องมือไฟฟ้า สภาพแวดล้อม ฯลฯ โดยผู้ตรวจต้องมีมาตรฐานเปรียบเทียบในแต่ละหัวข้อที่กำหนดไว้ ดังตัวอย่าง
            2. แบบตรวจความปลอดภัยที่ไม่ระบุรายการตรวจไว้โดยละเอียด : เป็นแบบตรวจที่ผู้สร้างแบบคาดหมายว่า ผู้ตรวจมีความรู้และประสบการณ์สามารถระบุรายละเอียดของสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่ปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องกำหนดรายละเอียดไว้ให้ บางครั้งอาจทำคู่มือ แนวทางหรือคำอธิบายในการตรวจไว้ให้ โดยผู้ตรวจต้องระบุสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย หรือวิธีการทำงานที่ไม่ปลอดภัย จากนั้นให้นำมาเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา แล้วเสนอความเห็นในการป้องกันแก้ไขในเรื่องๆ ดังตัวอย่าง
             3. แบบตรวจที่นำไปประยุกต์ขึ้นใช้เองตามความเหมาะสม : เป็นแบบตรวจที่สถานประกอบการหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องสร้างขึ้นใช้เองโดยอาศัยแบบตรวจทั่วไป ประสบการณ์หรือการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยซึ่งจะมีรูปแบบที่ไม่แน่นอนแล้วแต่ชนิดหรือประเภทของสถานประกอบการนั้น
ขอบคุณสำหรับข้อมูล


ที่มา : http://www.thai-interelectric.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=146418

Visitors: 993,525